“โค้ชชุ่ม” อดีตกุนซือทีมชาติไทย U17 วิเคราะห์สาเหตุหลังทีมชุดนี้ แพ้ 3 เกมรวดให้เอเชียน คัพ 2025
วันที่ 10 เมษายน 2568 ความเคลื่อนไหวหลังเกม ทีมชาติไทย U17 แพ้ จีน 0-2 กระเด็นตกรอบเอเชียน คัพ 2025 ในฐานะอันดับ 4 กลุ่ม A แบบไม่มีคะแนน พร้อมชวดคว้าสิทธิ์ไปฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย
แฟนบอลพากันวิจารณ์นักเตะชุดนี้ รวมถึง จเด็จ มีลาภ กุนซือของทีม แบบหนักหน่วง แต่มุมมองของ “โค้ชชุ่ม” ชยกร ถนัดเดินข่าว อดีตกุนซือทีมชาติไทย U17 และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “เปิดบอล” มองว่าสาเหตุตกรอบไม่ใช่เพราะ โค้ช หรือ นักเตะบางคน แต่กลับมาจากกระบวนการคิดและทัศนคติของคนในวงการฟุตบอลไทยในทุกวันนี้ครับ (โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ) โดยหวังอยากให้จัดรายการฟุตบอลเยาวชนที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของเด็ก
“โค้ชชุ่ม” โพสต์ผ่านเพจเปิดบอลว่า
มาวิเคราะห์รายละเอียดกันครับ ว่าผลงานของU-17 ที่เป็นแบบนี้เพราะอะไร
หลังจากที่ทีมชาติไทยU-17 แพ้สามแมตช์รวด จบอันดับ 4(สุดท้าย) ของรอบแรก ในการชิงแชมป์เอเชีย และคัดไปบอลโลกในโซเชียลมีเดียเพจต่างๆ ก็เป็นเหมือนทุกครั้งที่ฟุตบอลทีมชาติไทยตกรอบหรือผลงานไม่ดี ต้องมีการระบายออกมา และหาว่าใครผิด และในรอบนี้คนที่ผิดตามความเห็น”แฟนบอล” ส่วนมากเท่าที่อ่านก็คือ ผู้เล่นบางคนและโค้ชจเด็จ
ผมจะบอกให้ครับ ว่าสาเหตุที่ทีมชาติไทยไม่สามารถต่อกรในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ (ระดับทวีป,ระดับโลก) ได้นั้น เป็นเพราะอะไร ไม่ใช่โค้ชจเด็จหรือผู้เล่นบางคนแน่นอนครับสาเหตุมาจากกระบวนการคิดและทัศนคติของคนในวงการฟุตบอลไทยในทุกวันนี้ครับ (โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ)
เราจะเห็นได้เสมอว่า คนไทยมุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จในระดับยอดของปีรามิดตลอดเวลาครับระดับชาติ (ทุกรุ่นอายุ) เราต้องการความสำเร็จเสมอ ถ้าล้มเหลว ต้องเปลี่ยนโค้ช ไม่ก็เป็นความผิดนักฟุตบอลบางคนระดับสโมสร ทีมส่วนใหญ่มองไปที่การใช้เงินจ้างนักเตะแพง ๆ (และฐานเงินเดือนก็แพงมากขึ้นในทุก ๆ ปี) มาร่วมทีมเพื่อตามล่าความสำเร็จต่างๆ และไม่สนใจจะพัฒนาทีมเยาวชน (ไม่มีอคาเดมี่ด้วยซ้ำ)
แต่คนส่วนใหญ่ในวงการนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนฐานของปีรามิด(ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด)อย่างมากพอ
ส่วนที่ผมจะพูดถึงก็คือ การพัฒนาเยาวชนและการเพิ่มจำนวนประชากรฟุตบอลครับเราผลิตนักฟุตบอล อย่างเจ,อุ้ม,มุ้ยหรือเช็คมาได้ไม่มากพอ เพื่อให้โค้ชในทีมชาติชุดใหญ่(และทุกชุด)ได้มีทางเลือกที่จะใช้ได้อย่างทั่วถึงในทุกตำแหน่ง และหลังจากหมดเจเนเรชั่นนี้ ผมก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีใครมาแทนที่คนอย่างเจได้ในทันที
และนักฟุตบอลส่วนใหญ่ที่ถูกกล่าวถึง ก็ไม่ได้เก่งขึ้นมาด้วยระบบการพัฒนาเยาวชนของไทย
ใช่ครับ…… การมุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จ หรือถ้วยรางวัลของทีมชาติ เป็นเรื่องที่ดี และมันจะทำให้คนไทยทุกคนภูมิใจ แต่ถ้าเราไม่มุ่งไปที่วิธีการสอนและปั้นนักฟุตบอลให้เป็นนักฟุตบอลที่จะไปแข่งขันในระดับทวีป หรือระดับโลกได้ เราก็จะเดินไปข้างหน้าหนึ่งก้าว และถอยหลังสองก้าวเสมอ ในขณะที่เพื่อนบ้านเราค่อย ๆ เดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ
ตัวอย่างมีมากมายครับเช่น เยอรมันนีที่ล้มเหลวในยุคมิลเลเนียม แล้วทุกคนในวงการฟุตบอลเยอรมันก็หันมาประชุมกัน แล้วก็ตกลงกันว่า เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างการพัฒนาเยาวชน……… ไม่ถึง 20 ปี ก็เป็นแชมป์โลกเบลเยี่ยมก็เปลี่ยนแปลงโครงสร้างในยุคเดียวกับเยอรมันนี ไม่ถึง 20 ปีเช่นกัน ก็ผลิตนักฟุตบอลระดับโลกมาในเกือบทุกตำแหน่ง และได้อันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2018
การจะพัฒนาเยาวชน ก็ไม่ใช่มุ่งไปที่การที่ทีมยู 14,16,19 จะไปได้แชมป์รายการต่าง ๆ
การพัฒนาเยาวชน คือการมุ่งพัฒนานักฟุตบอลตั้งแต่เล็ก 4-5 ขวบ กันเลยทีเดียว
และในการพัฒนาเยาวชน ไม่ใช่การคัดตัวเด็กเก่ง ๆ มาร่วมทีมไปแข่ง แล้วพอได้แชมป์ก็บอกว่าเราปั้นเด็กเก่ง
การเพิ่มจำนวนประชากรฟุตบอลก็คือการเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลนั่นเอง ในระยะยาว โค้ชทีมชาติก็จะมีตัวเลือกนักฟุตบอลระดับทีมชาติในแต่ละตำแหน่งมากขึ้นนั่นเอง
ทุกวันนี้ตัวเลขจำนวนประชากรฟุตบอลเรายังห่างกับประเทศที่ไปบอลโลกมาก ๆ
Grassroots Football ในบ้านเราไม่มีความสำคัญเลย (ไม่มีงบลงมาเป็นปีแล้ว)
สิ่งที่สำคัญกว่าการหานักบอลเด็กเก่ง ๆ ก็คือ การอบรมให้เกิดโค้ชเก่ง ๆ อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ พร้อมกับระบบการจัดการฟุตบอลเยาวชนที่มีประโยชน์กับเด็กจริง ๆ
และปัจจุบันรายการฟุตบอลที่จะมีการแข่งอย่างต่อเนื่อง(Regular league) มีแมตช์เป็นประจำอาทิตย์ละแมตช์ เป็นเวลา 7-8 เดือนต่อปีเป็นอย่างน้อยนั้น “ไม่มีเลย”
รายการแบบนี้จะเป็นรายกาารที่ทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ พัฒนากันไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ หัวข้อต่อหัวข้อ มากกว่าการซ้อมเพื่อ”ชัยชนะ” อย่างเดียว ซึ่ง ประเทศที่ไปบอลโลกเป็นประจำ เค้าต่างทำแบบนี้กันหมด
อันนี้ก็ต้องฝากสมาคมหรือผู้ใหญ่ที่ถืองบประมาณไว้นะครับ ว่ามาลงทุนตรงนี้บ้าง การจัดบอลแบบนี้ บางทีใช้เงินพอ ๆ กับโบนัสทีมชาติไทยชุดใหญ่แค่สองนัดเองครับ แต่ผลระยะยาวต่างกันเยอะครับ
ทุกวันนี้ เรายังเห็นรายการฟุตบอลสั้น ๆ ที่หลาย ๆ ทีมส่งเด็กไปแข่งเพื่อล่ารางวัล เพื่อบอกว่าอคาเดมี่เราดี โรงเรียนเราดี ทีมเราดี เยอะเกินความจำเป็น
ในหลาย ๆ ประเทศที่ฟุตบอลพัฒนาแล้ว รุ่นอายุ 7-12 ปี บ้านเค้ามีเป็นระบบลีกอย่างทั่วถึง เพื่อให้นักฟุตบอลได้มีโอกาสลงเล่นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงทุกคน และที่สำคัญ เค้าไม่ใส่ใจการการจับอันดับตารางคะแนน
พอไม่มีอันดับหรือผลการแข่งขัน โค้ชก็จะกล้าใช้นักฟุตบอลทั้งทีมหมุนเวียนกันเล่นเท่า ๆ กัน มากขึ้น
บ้านเราส่วนใหญ่ พอเน้นผลการแข่งขัน ทั้งทีมสมมติมี 20 คน โค้ชก็จะใช้แต่ 11-15 คนเท่านั้น เพื่อเน้นเอาแชมป์ เด็กอีก 5 คนที่เหลือ ก็จะลดโอกาสการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดายและรวมถึงการสอนฟุตบอลเด็กของบ้านเราส่วนใหญ่ โค้ชจะใช้การสั่งมากกว่าการสอน(โดยให้เหตุผลประกอบ)
เช่น โค้ชจะบอกให้เด็กอย่าเลี้ยง รีบส่งบอล ไปทางโน้น ไปทางนี้ แต่ไม่บอกเหตุผลกับเด็กว่าทำไมต้องทำ ทั้ง ๆ ที่แต่ละสถานการณ์ในเกมส์ฟุตบอล เด็กควรจะมีทางเลือกให้คิดเองมากกว่าหนึ่งทาง
ระบบการสั่งให้เด็กทำ ทำให้บ้านเราผลิตนักฟุตบอลที่มีความคิดสร้างสรรค์ออกมาน้อยเกินไปพอเด็กเลี้ยงบอล โค้ชก็จะชอบบอกให้รีบออกบอลเร็ว ๆ วีธีการแบบนี้ เราก็ผลิตนักฟุตบอลที่มีความสามารถเฉพาะตัวที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ออกมาน้อยเกินไปเช่นกัน
โค้ชส่วนใหญ่สอนให้เด็กส่งบอล เลี้ยงบอลได้ แต่ไม่ได้สอนให้เด็กได้คิดเองว่า ทำตอนไหน ทำเมื่อไร ทำอย่างไร
แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ความผิดของโค้ช เพราะในการอบรมโค้ชของไทยที่ผมเคยผ่านมา โค้ชก็ไม่ได้ถูกสอนโดยใช้เหตุผลและตั้งคำถามเช่นกัน โค้ชถูกสอนมาให้ฟุตบอลมีแค่ถูกกับผิด ขาวกับดำทำให้โค้ชคนไทยส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตออกมา ก็ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเช่นเดียวกับนักฟุตบอลและการพัฒนานักฟุตบอลเพื่อป้อนให้กับทีมชาติในอนาคต ทุกวันนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของอคาเดมี่ของสโมสรต่าง ๆ หรือโรงเรียนที่มีทีมฟุตบอลต่าง ๆ(ซึ่งก็จะร่วมมือกับสโมสรอยู่ดี)
และหลาย ๆ ทีม (ในรุ่นเล็ก ๆ ) ก็ยังมุ่งเป้าไปที่การคัดตัวเด็ก การดึงตัวเด็กเข้าทีม เพื่อล่าแชมป์อยู่เหมือนเดิม
ย้ำอีกครั้ง ….. ในระดับเยาวชน ถ้าเรามุ่งเป้าล่าแชมป์ คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือโค้ชและเจ้าของทีม ไม่ใช่นักฟุตบอลผมทำงานกับหลายสโมสรในไทย หลาย ๆ ทีมยังคงโฟกัสและทุ่มเงินเกิน95%ของงบ เพื่อไปใช้กับทีมใหญ่ ในขณะที่ทีมระดับเยาวชนกลับไม่ได้รับการเหลียวแลมากที่ควรบางทีมจำเป็นต้องมีทีมเยาวชน (เพราะกฎบังคับ) ก็แค่ไปดึงโรงเรียนที่มีทีมฟุตบอลอยู่แล้ว มาใช้ชื่อสโมสรตัวเอง เพื่อประหยัดงบ
บางทีมลงทุนกับทีมชุดใหญ่หลายสิบล้าน หรือเป็นร้อยล้าน แต่ไม่ลงทุนกับระะบบเยาวชนเลยและยังมีอีกหลายเรื่องครับ ที่วงการฟุตบอลไทยต้องปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องรากฐานของฟุตบอล แต่ในช่วงปีหลัง ๆ ผมก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลายอย่างครับ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ บางทีมันอาจจะช้าไปครับ
และมันจะช้าไปอย่างแน่นอน ถ้าเทียบกับความคาดหวังของแฟนบอลไทย
จะดีมากกว่าครับ ถ้าแฟนบอลไทย ลดความสนใจจากส่วนยอดของปีรามิด แล้วมาเพิ่มที่ส่วนล่างของปีรามิดมากขึ้นจะดีมากกว่าครับ ถ้าคนที่มีส่วนร่วมกับวงการฟุตบอลเยาวชน ลดการตั้งเป้าเรื่องถ้วยรางวัล แล้วไปมุ่งเน้นในการพัฒนาเด็กมากกว่านี้
จะดีมากกว่าครับ ถ้าโค้ชสอนเด็กให้ได้มีความคิดเป็นของตัวเอง โดยการตั้งคำถามกับเด็ก แทนการสั่งครับ
จะดีมากกว่าครับ ถ้าการอบรมโค้ชในทุกวันนี้ อบรมโดยการให้โค้ชได้นำสถานการณ์จริงๆ มาเรียน ไม่ใช่เรียนแต่ท่องทฤษฎี 1-5 เพื่อแค่สอบผ่าน (ทฤษฎีเมื่อ 20 ปีที่แล้วอีกด้วย)
จะดีมากกว่าครับ ถ้าสมาคมฟุตบอล ลงมาใส่ใจกับฟุตบอลเยาวชน ลงทุนกับเด็กและโค้ชที่จะสอนเด็กมากขึ้นครับ
จะดีมากกว่าครับ ถ้าสมาคมฟุตบอล(ในทุกยุค) และผู้ที่ถืองบประมาณทุกฝ่าย หันมาลงทุนกับรากฐานโครงสร้างทางฟุตบอลมากกว่านี้ ทั้งการอบรม Grassroots การจัดการแข่งขันระดับเยาวชนที่ทั่วถึงและต่อเนื่อง การอบรบโค้ชที่กระจายมากกว่านี้ (ตอนนี้ไม่มีงบลงมาเลย)
และจะดีที่สุดครับ ถ้าแฟนบอลไทยใจเย็น ๆ ครับ เราสู้เค้าไม่ได้ เพราะนักฟุตบอลเราได้รับการศึกษาทางฟุตบอลมาไม่เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วทางฟุตบอลครับ (ดูแมตช์เจออุซเบกิสถาน)
“ที่สำคัญ”ถ้าแฟนบอลคาดหวังความสำเร็จมากเกินไป คนที่มีอำนาจเค้าก็อยากจะเอาใจแฟนบอลโดยการเอาความสำเร็จมาให้ครับ เค้าก็จะลดความสนใจเรื่องการพัฒนาเด็กลงไปครับถ้าแฟนบอลคาดหวังเรื่องการพัฒนาเด็กมากขึ้น ผู้มีอำนาจทั้งหมดก็จะใส่ใจกับการพัฒนามากขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ช่วยกันนะครับ แฟนบอลไทยทุกคนด้วยความรัก จากเพจ #เปิดบอล